10 วิธีฝึกลูกน้อยห่างจากโรคติดโทรศัพท์
เราคงต้องยอมรับว่าปัจจุบันมีครอบครัวไม่น้อยที่ปล่อยให้ลูก
ๆ อยู่กับโทรศัพท์หลายชั่วโมงต่อวัน
เนื่องจากพ่อแม่หรือผู้ปกครองไม่มีเวลาที่จะดูแล
หรือบางบ้านก็ให้โทรศัพท์ลูกเล่นเพื่อตัดความรำคาญ ตัดความงอแง
ซึ่งรู้หรือไม่ว่าพฤติกรรมเหล่านี้จากผู้ปกครองนั้นส่งผลร้ายต่อลูก ๆ มากเพียงใด
ถึงแม้ว่าการเรียนรู้ในสื่อใหม่นั้นจะเป็นประโยชน์
แต่ข้อเสียของการใช้โทรศัพท์ในเด็กก็มีไม่น้อยเช่นกัน
จากการศึกษามากมายพบว่าวัยเด็กใช้เวลากว่า
6 ชั่วโมงต่อวันอยู่หน้าจอ และวัยรุ่นใช้เวลากว่า 9 ชั่วโมงไปกับโทรศัพท์
ซึ่งผลกระทบจากการใช้สมาร์ตโฟนนั้นกระทบต่อพัฒนาการของเด็ก ๆ
และอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงดังต่อไปนี้
-
ปัญหาด้านพฤติกรรม
-
ภาวะซึมเศร้า
-
รบกวนการนอนหลับ
-
ก่อเกิดโรคอ้วน
-
ความล่าช้าในการพัฒนาสังคม
-
ปัญหาความสนใจและการได้ยิน
- ปัญหาของระบบประสาท
Global Education หยิบ 10
วิธีที่จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ฝึกลูก ๆ ให้ห่างไกลจากโรคติดโทรศัพท์
มาแชร์และเริ่มทำไปด้วยกันค่ะ
1. ชวนทำกิจกรรมที่ได้ออกแรงสัก 15-30
นาที
เนื่องจากเด็ก ๆ
เป็นวัยที่กำลังอยู่ในช่วงพัฒนากล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ
การนั่งอยู่กับที่เพื่อจ้องโทรศัพท์หลาย ๆ ชั่วโมงนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ดีอย่างยิ่ง
คุณพ่อคุณแม่ควรชวนลูก ๆ ทำกิจกรรมเล็ก ๆ น้อยที่สามารถทำได้ในระยะเวลาไม่นาน เช่น
เดินเล่นสัก 15 นาทีในสวนหมู่บ้าน หรือหากไม่มีพื้นที่ก็สามารถชวนลูก ๆ
ออกกำลังกายแบบยืดกล้ามเนื้อภายในบริเวณบ้าน เพื่อให้พวกเขาเรียนรู้ว่าร่างกายของเรานั้นจำเป็นจะต้องเคลื่อนไหว
และผ่อนคลาย
2. จัดลำดับความสำคัญการใช้งาน
ผู้ปกครองควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าก่อนจะปล่อยให้ลูก
ๆ ใช้โทรศัพท์ พวกเขาจำเป็นจะต้องจัดการหน้าที่ที่ตัวเองต้องทำให้เรียบร้อยเสียก่อน
ไม่ว่าจะเป็น การบ้าน หรืองานบ้านที่ได้รับมอบหมาย การตามใจให้ใช้โทรศัพท์ได้ตลอดเวลาจะเป็นการส่งเสริมพฤติกรรมการติดโทรศัพท์มากขึ้น
3. รักษาเวลาในการใช้งานอย่างเข้มงวด
หากให้เด็ก ๆ มีการใช้โทรศัพท์ก็ควรมีระยะเวลาการใช้งานที่ตายตัว
โทรศัพท์หลายรุ่นมีฟังก์ชันพิเศษสำหรับเด็ก คือ สามารถกำหนดเวลาในการเล่นได้ เช่น
วันละ 3 ชั่วโมง หากเล่นเกินระยะเวลาโทรศัพท์จะล็อกทันที
ซึ่งส่วนนี้ผู้ปกครองควรบอกกับลูก ๆ
ให้เข้าใจตรงกันเรื่องระยะเวลาในการเล่นโทรศัพท์ ซึ่งการมีระยะเวลากำหนดเช่นนี้
จะช่วยฝึกการจัดการเวลาของเด็ก ๆ ทางอ้อมได้ด้วย
4. ไม่ใช้โทรศัพท์เป็นรางวัลหรือแรงจูงใจในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
ถึงแม้ว่าเราจะบอกไปข้างต้นว่าก่อนจะได้รับโทรศัพท์เด็ก
ๆ ควรจะทำหน้าที่ของตัวเองให้เรียบร้อยก่อน
แต่พ่อแม่ก็ไม่ควรหยิบยกการเล่นโทรศัพท์มาเป็นรางวัลในการทำกิจวัตรประจำวันที่ต้องทำ
เพราะอาจสร้างผลเสียต่อลูก ๆ จะกลายเป็นทำให้พวกเขาเข้าใจไปว่าการจะทำอะไรก็ตาม
โดยเฉพาะสิ่งที่พวกเขาควรต้องทำเป็นประจำจะต้องได้รับรางวัลทุกครั้ง
ซึ่งบางอย่างเช่น การบ้าน และหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย เป็นสิ่งที่ต้องทำอยู่แล้ว
5. ไม่ใช้โทรศัพท์ระหว่างมื้ออาหาร
สิ่งนี้เป็นอีกเหตุการณ์สำคัญประจำวันที่ผู้ปกครองต้องระมัดระวัง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งครอบครัวที่ไม่ได้ร่วมโต๊ะอาหารพร้อมกัน
ซึ่งอาจจะมาจากระยะเวลาไม่ตรงกัน จึงจำเป็นต้องให้ลูก ๆ รับประทานอาหารก่อน
ควรตรวจสอบและกำชับให้แน่ใจว่า ระหว่างการทานอาหารนั้น เด็ก ๆ
ไม่ควรที่จะดูโทรศัพท์ไป ทานอาหารไป เพราะนอกจากจะทำให้ติดโทรศัพท์แล้ว เด็ก ๆ
จะใช้เวลาในการทานอาหารนานขึ้นด้วย อาจเกิดพฤติกรรมอมอาหารจนฟันผุ
หรือใช้เวลานานจนไม่อยากกินอาหาร สุดท้ายจึงลงเอยด้วยการรับประทานไม่หมด
6. ดื่มด่ำการเรียนรู้ด้วยกิจกรรมที่มีประโยชน์
โทรศัพท์อาจช่วยให้เด็ก ๆ
เพลิดเพลินกับการรับสื่อและความบันเทิง ซึ่งสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย
โดยเฉพาะสื่อโซเชียลมีเดีย ซึ่งความจริงแล้วโซเชียลมีเดียต่าง ๆ
จำกัดอายุการสมัครที่ไม่ต่ำกว่า 15 ปี
แต่ก็มีหลายครั้งที่ผู้ปกครองเป็นผู้สมัครบัญชีให้
ซึ่งไม่เป็นผลดีกับเด็กสักเท่าไหร่ ดังนั้น หากต้องการให้เด็ก ๆ
ได้รับประโยชน์จากโทรศัพท์ ผู้ปกครองควรเลือกกิจกรรมที่เหมาะสมกับวัย
ด้วยเกมหรือแอปพลิเคชันที่สร้างสรรค์และส่งเสริมการเรียนรู้
7. ตั้งรหัสผ่าน
การตั้งรหัสผ่านโทรศัพท์เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการปิดกั้นการเข้าถึงโทรศัพท์ของเด็ก
ๆ แต่การตั้งรหัสผ่านอีกนั่นแหละก็เป็นวิธีที่ละเมิดข้อตกลงได้ง่ายที่สุดเช่นกัน
เพราะหลาย ๆ บ้านมีการตั้งรหัสล็อกโทรศัพท์ไว้ก็จริง
แต่สุดท้ายก็บอกรหัสให้กับเด็ก ๆ รู้อยู่ดี ซึ่งกลายเป็นว่าวิธีนี้จึงไม่ช่วยอะไรมากนัก
ดังนั้น หากผู้ปกครองต้องการใช้วิธีนี้ในการจำกัดเวลาการเล่นโทรศัพท์
ต้องไม่ลืมว่าห้ามบอกรหัสกับเด็ก ๆ เป็นอันขาด
และหากเป็นไปได้ก็ควรหมั่นเปลี่ยนรหัสอยู่เรื่อย ๆ
8. อธิบายข้อดีข้อเสียโดยตรง
อย่างไรเสียสีสันสดใสและแอนิเมชันบนหน้าจอโทรศัพท์ก็เป็นสิ่งล่อตาล่อใจชั้นดีที่ดึงดูดเด็ก
ๆ ให้ชื่นชอบอยู่แล้ว จึงเป็นเรื่องยากที่จะห้ามพวกเขาไม่ให้แตะต้องมันโดยเด็ดขาด
ผู้ปกครองจึงควรที่จะคุยกับพวกเขาโดยตรงให้รู้ถึงผลเสียของการใช้โทรศัพท์มือถือว่าส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร
เพื่อให้พวกเขาเข้าใจและให้ความร่วมมือ โดยไม่รู้สึกว่าถูกบังคับ
9. อย่าใช้โทรศัพท์เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ
ผู้ปกครองส่วนใหญ่มักใช้โทรศัพท์เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของเด็ก
ๆ ไม่ว่าจะเป็นตอนรับประทานอาหาร ตอนแต่งตัว หรือระหว่างการเดินทางโดยเฉพาะในพื้นที่สาธารณะ
เพื่อให้เด็ก ๆ สงบนิ่งไม่งอแง แต่การทำเช่นนี้ยิ่งเป็นการส่งเสริมให้เด็ก ๆ
อาจมีพฤติกรรมก้าวร้าวขึ้นหากไม่ได้รับโทรศัพท์มาใช้ในช่วงเวลาที่เคยได้รับ
ผู้ปกครองควรใช้วิธีสอนให้พวกเขารู้จักที่จะรับผิดชอบหน้าที่ของตนเอง
ไม่ว่าจะเป็นการทานอาหารให้ตรงเวลา และทานให้หมด
การแต่งตัวไปโรงเรียนซึ่งเป็นหน้าที่ที่ต้องทำเป็นประจำ
และการเคารพพื้นที่ส่วนรวมด้วยการไม่ส่งเสียงดัง
และไม่วิ่งเล่นเพื่อให้ไม่เกิดอันตราย
10. เป็นแบบอย่างที่ดี
คงไม่มีอะไรจะได้ผลได้ดีที่สุดเท่ากับการ
“ทำเป็นตัวอย่าง” อีกแล้ว เพราะเด็ก ๆ เรียนรู้จากการกระทำของพ่อแม่มากกว่าคำพูดของพ่อแม่
ดังนั้นพวกเขาจึงมักเลียนแบบพฤติกรรมของคุณและคนรอบข้างอยู่เสมอ
หากเราเอาแต่บอกพวกเขาว่าอย่าทำอย่างนั้น อย่าทำอย่างนี้ แต่ตัวคุณเองก็ยังคงทำ
ยังใช้โทรศัพท์ระหว่างทานอาหาร ยังใช้โซเชียลมีเดียเป็นเวลาหลายชั่วโมงติดกันโดยไม่พักไปทำอย่างอื่นเลย
เด็ก ๆ ก็จะซึมซับพฤติกรรมเหล่านี้ และในที่สุดเมื่อคุณออกคำสั่งกับพวกเขา
แน่นอนว่าพวกเขาเองก็คงตั้งคำถามกลับมาว่าแล้วทำไม คุณถึงทำได้
ซึ่งนั่นก็จะกลายเป็นอีกคำถามที่คุณต้องหาเหตุผลดี ๆ มาตอบพวกเขาให้ได้
ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมีข้อดีและข้อเสียด้วยกันทั้งสิ้น
โทรศัพท์มือถือก็เช่นกัน เราสามารถที่จะใช้มันเพื่อเข้าถึงการเรียนรู้ที่ไร้ขีดจำกัดได้
มีสื่อดี ๆ มากมายที่สร้างสรรค์ขึ้นให้เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัย
แต่ในขณะเดียวกันโทรศัพท์มือถือก็สร้างอันตรายได้เช่นกัน โดยเฉพาะกับช่องทางที่ไม่เหมาะสม
เช่น สื่อโซเชียลมีเดียที่จำกัดอายุ
มีเด็กมากมายมีพฤติกรรมเลียนแบบบุคคลในโลกออนไลน์ การใช้ท่าทาง การใช้คำพูด
ผู้ปกครองควรต้องคอยจับตามองอย่างใกล้ชิด
ไม่ปล่อยให้พวกเขาเข้าสู่โลกออนไลน์ที่ไม่เหมาะสมกับวัย เพราะเด็ก ๆ
ยังมีวุฒิภาวะไม่เพียงพอที่จะแยกแยะได้ว่าสิ่งไหนไม่ควรทำตาม ดูแลการใช้งานอย่างระมัดระวัง
หมั่นพาพวกเขาทำกิจกรรมอื่นนอกจากการใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์บ้าง
เพื่อเสริมกิจกรรมที่สมวัย และสร้างสายใยความผูกพันในครอบครัวเพิ่มขึ้น
ผู้ปกครองที่สนใจหนังสือเรียนรู้และฝึกฝน
สามารถสั่งซื้อได้ที่
โทร :
081-720-3906, 093-415-6956
อีเมล : global.sipatta@gmail.com
เว็บไซต์ : www.globaleducatethai.com
Facebook: https://www.facebook.com/kung.sipatta